การเดินทางไม่มีที่สิ้นสุดของกระดาษทำมือ

 

            นับตั้งแต่โลกรู้จักการทำกระดาษเมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลในยุคอียิปต์โบราณที่เรียกว่ากระดาษปาปิรุส มาถึงการผลิตกระดาษที่ใช้เขียนหนังสือได้ทีละมากๆ โดยชาวจีนเมื่อราวปี ค.ศ.105 กระดาษก็ได้กลายเป็นวัสดุที่นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากมาย ทั้งการจดบันทึกข้อความ การพิมพ์หนังสือ บรรจุภัณฑ์ ธนบัตร กระดาษวาดรูป ฯลฯ

            ปัจจุบัน โลกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว “กระดาษทำมือ” ที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการผลิตเหมือนจะถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ ในสังคมที่เข้าสู่ยุคไร้กระดาษ แต่แท้จริงนั้นตำนานความรู้ของกระดาษทำมือที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรษยังไม่สูญหายไปไหน ตรงกันข้ามกลับถูกทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ โดยหนึ่งในผู้ที่ยืนหยัดในการรักษาคุณค่าของกระดาษทำมือไปพร้อม ๆ กับความพยายามรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนทำกระดาษที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มาช้านาน ก็คือ ธนากร สุภาษา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษจากใยธรรมชาติ ภายใต้แบรนด์ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ (Papa Paper Craft) ที่กำลังมีผลงานบอกเล่าเสน่ห์ของกระดาษทำมือที่สะท้อนเรื่องราวทั้งกระบวนการผลิต จิตวิญญาณ ความเปลี่ยนแปลง พร้อมนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงรูปแบบชีวิตที่อยู่ร่วมกับการผลิตกระดาษมาเกือบทั้งชีวิต ในนิทรรศการ PAPER BLOG” ที่จัดแสดงไว้ที่ TCDC ในช่วงเวลานี้

            “กระดาษไม่มีวันตาย และการเดินทางของกระดาษก็ไม่มีที่สิ้นสุด”

 

นวัตกรรมย้อนแย้งของกระดาษ

            ภูมิหลังของ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ เริ่มจากผู้เป็นบิดาสร้างธุรกิจกระดาษสาทำมือที่หมู่บ้านต้นเปา ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่ส่งกระดาษสาให้กับหมู่บ้านบ่อสร้างนำไปผลิตพัดและร่ม ที่นักท่องเที่ยวมักซื้อหาไปเป็นของขวัญของฝาก ครั้นเมื่อธนากรเข้ามาบริหารธุรกิจในฐานะทายาทรุ่นสองก็มีมุมมองว่าการนำกระดาษไปทำเพียงร่มและพัดนั้นไม่ได้นำไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ เพราะใคร ๆ ก็สามารถเลียนแบบได้ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่มักมีไอเดียแปลกใหม่เขาจึงนำดีไซน์และนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เน้นการเป็นสินค้าประเภท Life style, Interior, Gift & Premium และ Eco packaging ในสไตล์ Minimal design โดยมีตลาดต่างประเทศเป็นลูกค้าหลัก

            ที่สำคัญ เขายังสามารถพลิกภาพจำของกระดาษทำมือไปสู่นวัตกรรมกระดาษที่มีฟังก์ชั่นใหม่ ๆ ที่ใครต่อใครคาดคิดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น

            กระดาษกันน้ำ โดนน้ำแล้วไม่ขาด สามารถใส่น้ำไว้ในถุงได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เหมาะสม ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์จานกระดาษกันน้ำที่ใส่อาหารได้ และเตรียมออกสู่ตลาดเร็ว ๆ นี้

            กระดาษไม่ลามไฟ ช่วยให้ไฟไม่ลามต่อ เมื่อเกิดไฟไหม้ก็จะไหม้เฉพาะจุด เหมาะสำหรับโคมไฟกระดาษ วอลล์เปเปอร์ปูผนังภายในอาคาร เป็นต้น

            กระดาษดูดกลิ่น มีคุณสมบัติดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น ในรถ ห้องน้ำ ห้องครัว ตู้เสื้อผ้า หรือเป็นตัวดูดซับกลิ่นในรองเท้า

            กระดาษกรองฝุ่น ไอเดียที่เกิดจากปัญหาฝุ่นควันในเมืองเชียงใหม่ โดยบริษัทได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์กรมหาชน (NIA) ในการวิจัยกระดาษเส้นใยธรรมชาติที่สามารถกรองฝุ่นได้ถึงระดับ 2.5 ไมครอน สำหรับการทำเป็นกระดาษกรองฝุ่นในเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทางบริษัทตั้งใจนำออกสู่ตลาดในปลายปี 2564 นี้

            นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ ยังได้ออกผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยจากกระดาษให้เลือก แบบ คือ หน้ากากจากเส้นใยกระดาษสา 100% และเส้นใยกระดาษสาผสมเส้นใยพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด เป็นต้น พร้อมมีการเคลือบสารฆ่าเชื้อซิลเวอร์ (Ag+) มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยังเคลือบสารกันน้ำเพื่อป้องกันสารคัดหลั่งจากภายในและภายนอกที่ติดมากับหน้ากากเข้าสู่ร่างกาย หน้ากากกระดาษนี้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 5-7 ครั้ง(แล้วแต่การใช้งานของผู้ใช้) ที่สำคัญยังสามารถย่อยสลายได้ภายในหนึ่งปี

            “นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นจะเริ่มจากชุดความคิดของคนทั่วไปที่ว่า กระดาษทำอะไรไม่ได้’ บ้าง หรือการย้อนแย้งว่า “กระดาษไม่ถูกกับอะไรบ้าง ผมเลยคิดเรื่องน้ำกับไฟเป็นอันดับแรก ผมได้กระดาษกันน้ำเป็นนวัตกรรมแรก ต่อด้วยกระดาษไม่ลามไฟ เพราะมันช่วยดึงความสงสัยใคร่รู้ของคนให้มาหยุดที่บูธเราเวลาไปร่วมงานแสดงสินค้า งานโชว์เคสต่าง ๆ ผมคิดว่าเมื่อมีการถามเพราะความสนใจและอยากรู้ว่าทำได้ยังไง ทำได้จริงเหรอ ส่วนการเจรจาธุรกิจมีหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ได้เชื่อมโอกาสให้คนได้เข้ามาคุย มารู้จักเรา” ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี

 

เติมคุณค่าด้วยงานวิจัย

            ในฐานะที่เป็นนักวิจัยเองด้วย ธนากรบอกว่า ตัวเขาให้ความสำคัญกับกระบวนการวิจัยตลาดเพื่อนำผลการวิจัยมาตกผลึกความต้องการของลูกค้าว่าเขาเหล่านั้นต้องการสินค้าอะไร ซึ่งปัจจุบันมีหลายวิธีในการทำแบบสำรวจทั้งการออกแบบสอบถามทั่วไป กูเกิลฟอร์ม หรือแบบสำรวจในเฟซบุ๊ก แล้วจัดเรียงลำดับให้เห็นโซลูชั่นที่ลูกค้าต้องการ แล้วนำเกณฑ์ดังกล่าวมาทำวิจัยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ซึ่งตัวเขานั้นจะทำงานร่วมกับนักวิจัยทางภาคเหนือที่มีความถนัดในแต่ละด้าน โดยกำหนดไว้ว่าจะมีงานวิจัย ชิ้นในแต่ละปี ครึ่งปีสำหรับการทำวิจัยเส้นใย และอีกครึ่งปีสำหรับการทำต้นแบบผลิตภัณฑ์มาวิเคราะห์ตลาด ด้วยวิธีนี้จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไปได้ไกลและมีความยืดหยุ่นกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่

            “ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องใช้งานวิจัยเป็นตัวนำ และการทำวิจัยที่ใช้ต้นทุนต่ำคือทำร่วมกับมหาวิทยาลัยซึ่งมีอยู่มากมายทั่วประเทศ เข้าไปหา เข้าไปคุยกับนักวิจัย เดี๋ยวโซลูชั่นจะมาเอง แม้จะมีถูกบ้างผิดบ้าง ผมก็มีผิดเยอะแยะ แต่พอจับจุดได้เราก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปได้ถูกทาง ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ มีงานวิจัย 40-50 ชิ้น แต่เราประสบความสำเร็จและโชว์เคสได้ 4-5 อย่างเอง ผมเคยทำรองเท้ากระดาษสำหรับใช้ในโรงแรม ในออนเซ็น ด้วยนะ แต่ตอนนั้นยังกันน้ำไม่ได้ 100% ตอนนี้กระแสโควิดทำให้ทุกคนมาคิดเรื่องผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง โอกาสทางการตลาดจึงต่างกัน ปีนี้อาจจะไม่เวิร์ก แต่ปีหน้าทุกคนรู้ว่ารองเท้าคู่นี้ใส่แล้วมีซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ แถมย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ มันอาจขายได้ก็ได้ เพราะของที่เมื่อก่อนไม่เวิร์ก มันอาจจะเวิร์กตอนนี้ก็ได้ ธนากรหัวเราะ

            สำหรับแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์กระดาษเส้นใยธรรมชาติในช่วงปี 2564-65 นั้นจะเป็นเรื่องของ Plant-based โดยธนากรเปิดเผยว่า ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นคิดถึงเรื่องการทำเนื้อเทียมจากพืช ทั้งที่ความจริงแล้ว Plant-based สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ได้มากมาย อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างความว้าวครั้งใหม่ให้ทราบได้ แต่เขาก็ปักธงไว้ว่าไม่เกินปีหน้า ทางบริษัทก็จะมีผลิตภัณฑ์บนฐาน Plant-based ได้แน่นอน

 

เดินทางไปพร้อมกับสังคมและชุมชน

            ซีอีโอ ซิมพลิ เด็คคอร์ กล่าวต่อไปว่า เสน่ห์ของกระดาษทำมือนั้นอยู่ที่การเป็นกระดาษที่ผสมผสานระหว่างฟังก์ชั่น” การใช้งานกับ ”อีโมชั่น” อารมณ์ ความรู้สึก เสน่ห์กระดาษทำมือนอกจากการจับ การสัมผัส การมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาในชุมชน จึงมีเรื่องของคุณค่าทางใจซึ่งสามารถนำไปเสริมหรือต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้

            ปัจจุบัน หมู่บ้านต้นเปายังถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านกระดาษทำมือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และทำกระดาษสาสำหรับพัดและร่มบ่อสร้างมาประมาณกว่า 100 ปีแล้ว การทำกระดาษของหมู่บ้านต้นเปาเป็นภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมา มีเรื่องราวค่อนข้างชัดเจน แข็งแรง เมื่อนำภูมิปัญญามาต่อยอดทางด้านนวัตกรรมเส้นใยพืชต่าง ๆ จึงกลายเป็นเสน่ห์ของ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ ในการเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์รุ่นใหม่ที่ใส่ใจผลิตภัณฑ์รักโลก ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการพัฒนาจากเส้นใยธรรมชาติ ในพืชเกือบทุกชนิดในประเทศไทย

            นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศของชุมชนต้นเปาให้เป็นสถานที่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในเชิงการผลิต มีการรีไซเคิลระบบน้ำให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และการบริหารจัดการโรงงานผลิตกระดาษภายใต้คอนเซปต์ “ไม่เหลืออะไรให้ทิ้ง” (Zero wasteขณะเดียวกันการทำธุรกิจของ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ ก็ยึดหลัก ชุมชนอยู่ได้ บริษัทอยู่ได้ ด้วยระบบการทำงานที่ช่วยให้ทุกคนมีรายได้ในทุกภาคส่วน เป็นการสร้างเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9

            “เคล็ดลับในการทำธุรกิจคือเดินไปพร้อมกับสังคมและชุมชน” เขากล่าวพร้อมกับแสดงความมั่นใจว่า ตราบใดโลกใบนี้ยังหมุนอยู่ กระดาษก็ยังขายได้ และทำให้ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ ยังมีเรื่องราวให้บอกเล่าไม่รู้จบ”


PAPA PAPER ปาป้า เปเปอร์ กระดาษสา


“PAPER BLOG” บันทึกที่ยังไม่สิ้นสุดของกระดาษทำมือ เป็นนิทรรศการที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นร่วมกับ Coth Studio เพื่อนำเสนอเนื้อหาและเรื่องราวของ “กระดาษทำมือ” ในชีวิตของผู้ประกอบการกระดาษ ท่านในพื้นที่ภาคเหนือ คือ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์ และช่างกระดาษเวฬุวัน ที่แต่ละท่านได้คิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรรค์สร้างและแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของกระดาษทำมือ และยังความงามที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ในยุคสมัยนี้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าชมได้ไปจนถึงวันที่ 25 เมษายน 2564 เวลา 10.30 - 19.00 น. ที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (MDIC) ชั้น และ Creative Space ชั้น อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ

 

 

เรื่อง : พัตรา พัชนี

 

Website : www.papapaper.info

Facebook : https://www.facebook.com/papapaperfactory

Line OA : @papapaper

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม