กระดาษสาไทย เส้นใยธรรมชาติ โกอินเตอร์

PAPA PAPER CRAFT® Factory

กระดาษสาไทย เส้นใยธรรมชาติ โกอินเตอร์


เคยคิดว่าหน่วยงานราชการต่างๆ ให้บริการเช้าชามเย็นชาม ปรึกษาอะไรคงใช้เวลานาน แต่วันนี้ สิ่งที่ผมได้รับ มันทำให้ผมได้พัฒนาการดำเนินธุรกิจของผมให้สะดวกเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า

            
หมู่บ้านบ่อสร้างเป็นหมู่บ้านทำร่มกระดาษสา งานหัตถกรรมอันเลื่องชื่อของเชียงใหม่ สร้างชื่อเป็นสินค้าส่งออกของประเทศและเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดมาช้านาน จนวันหนึ่งเมื่อความนิยมลดลง กระดาษสาที่เคยมีราคาก็ค่อยๆ 
ถูกลดบทบาทลงไป ผู้ผลิตกระดาษสาต่างทยอยปิดตัวและเลิกกิจการกันไปหมด 
            ตั้งแต่สมัยคุณพ่อทำอาชีพกระดาษสา
อยู่ที่หมู่บ้านต้นเปา ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง ซึ่งเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมกระดาษสาทำมือ เพื่อป้อนให้กับหมู่บ้านบ่อสร้างนำไปผลิตร่มและพัด มาถึงยุคลูกชาย เมื่อต้องเจอวิกฤติกระดาษสาไม่ได้รับความนิยมเหมือนก่อน คุณธนากร สุภาษา ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าสืบทอดกิจการของครอบครัวต่อ แต่หันมาบุกเบิกทำตลาดในช่องทางใหม่อย่างออนไลน์ ปรับดีไซน์ ใส่เรื่องราว เพิ่มการคิดค้นและพัฒนาวัสดุใหม่ๆ เข้าไป เพื่อให้ถูกใจลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยมีโจทย์ว่า “ทำอย่างไรให้กระดาษมีราคา” พัฒนาเป็นแบรนด์ PAPA PAPER CRAFT® ที่มุ่งหันมาทำตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพราะความต้องการมีสูงจากกระแสตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม 
            เดิมวัตถุดิบในการผลิตกระดาษเน้นปอสาเป็นหลัก ด้วยวิสัยทัศน์ของคุณธนากรที่มองเห็นคุณค่าของวัสดุการเกษตรเหลือทิ้ง และเจตนารมณ์ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงนำเส้นใยวัสดุจากธรรมชาติ
ชนิดใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น เส้นใยจากธรรมชาติ เช่น หมาก มะพร้าว กล้วย กากชากาแฟ ตะไคร้ หญ้าแฝก ฟางข้าว เปลือกกระเทียม เป็นต้น ซึ่งเส้นใยแต่ละชนิดให้ผิวสัมผัสที่รู้สึกแตกต่างกัน และส่งผลต่องานดีไซน์ที่แตกต่างกันไปด้วย พร้อมปรับเปลี่ยนบทบาทจากเป็นโรงงานผลิตกระดาษ มาเป็นโรงงานผลิตเส้นใยแทน
            จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ 
PAPA PAPER CRAFT
® แบรนด์ภายใต้ บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด อยู่ที่การเป็นโรงงานกระดาษทำมือเจ้าเดียวในประเทศไทย แต่ด้วยการขยายตลาดส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีการนำเครื่องจักรขนาดเล็กเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อทันกับออเดอร์ที่สั่งเข้ามา คุณธนากรเล่าว่าปัญหาหลักของ SME รายเล็กอย่างเขา คือ ไม่รู้ว่าเงินหมุนเวียนในระบบไปอยู่ที่จุดใดบ้าง จึงต้องการปรับปรุงการผลิตในลักษณะการให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อการวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            “หัวใจหลักของ 
SME มีแค่ 2 เรื่อง หนึ่ง ต้องบริหารจัดการสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพ และสอง ปรับตัวให้ทันสถานการณ์ แต่ปัญหาของผมคือเงินหมุนเวียนของผมไปกระจุกอยู่จุดไหนบ้าง ผมไม่รู้ จึงเข้าไปขอคำแนะนำจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1”
            
การพัฒนาด้านการผลิตและการหาช่องทางตลาดใหม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุน โครงการ RISMEP ได้ช่วยประสานจนบริษัทได้รับการสนับสนุนด้านสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และโครงการสินเชื่อประชารัฐ โดยเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้บริษัทได้มีโอกาสในการปรับปรุงทางด้านการผลิต ส่งผลต่อการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างในปัจจุบัน
            ในแง่การนำเทคโนโลยีระบบไอทีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ มีการประสานที่ปรึกษามาจัดทำระบบไอที และจัดหาบุคลากรสำหรับการพัฒนาระบบไอทีในการจัดทำเรื่องควบคุมการผลิต โดยการพัฒนาแอปพลิเคชันบริหารจัดการสต็อก จากเดิมที่เคยกรอกข้อมูลแล้วจัดเก็บเป็นแฟ้มเอกสาร ก็พัฒนามาเป็นการป้อนข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน และเก็บไว้บนระบบคลาวด์ ผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SME ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
            “แอปฯ ตัวเดียวทำให้ผมรู้เลยว่าเงินของผมอยู่ตรงไหนบ้าง อยู่ที่คลังวัตถุดิบเท่าไร อยู่ในกระบวนสินค้าระหว่างผลิตเท่าไร สินค้าเสร็จแล้วรอส่งออกอีกเท่าไร พอต้นทุนลดได้ก็เห็นกำไรชัดเจน เมื่อมองเห็นภาพของเงินทุนหมุนเวียนชัดเจนก็ใช้เงินได้ถูกประเภท จากเดิมต้องใช้คนบันทึกข้อมูล 
30 นาทีต่อวัน ก็ลดลงเหลือวันละ 10 นาที คิดเป็นการลดต้นทุน 30-50% ลดต้นทุนเรื่องของแรงงานไปได้จำนวนมากกว่า 5 คนต่อวัน” 
            แม้ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะกระทบตลาดการส่งออกไปพอสมควร แต่เพราะเน้นความหลากหลายของสินค้า ไม่เน้นพึ่งพาลูกค้าเจ้าหลักเพียงเจ้าเดียว จึงทำให้รอดพ้นช่วงวิกฤตมาได้ แม้ยอดขายจะลดลงไปบ้าง ก่อนจากกันคุณธนากรทิ้งท้ายความในใจถึง “ผู้ช่วย” ที่เข้ามาเติมเต็มธุรกิจของเขาว่า
            “เคยคิดในแง่ลบกับหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าคงให้บริการไปงั้นๆ แต่สิ่งที่ผมได้วันนี้มันทำให้การดำเนินธุรกิจของผมสะดวกเพิ่มมากขึ้น และเป็นสิ่งที่ผมคิดไว้ตั้งนานแล้ว และทำได้ดีกว่าที่ผมคิดไว้อีก ขอบคุณครับ”
            ขอเพียงเปิดใจ ก็เหมือนเปิดรับโอกาสใหม่ๆ เข้ามา
 




บริษัท ซิมพลิ เด็คคอร์ จำกัด
104/4 หมู่ 3 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์
: 09-9265-6459, 0-5333-8910
เว็บไซต์www.papapaper.info 
อีเมล : sales@papapaper.info

เฟซบุ๊กกระดาษสา ผลิตและออกแบบ PAPA PAPER CRAFT - Thai Paper Mulberry Saa Factory

Instagram : papapaper_craft_official

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม